เที่ยวงานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยจะเริ่มงานในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (วันออกพรรษา) ของทุกปี เพราะเป็นช่วงน้ำนองเต็มตลิ่งเหมาะแก่การแข่งเรือเป็นอย่างยิ่ง และในวันออกพรรษาชาวพุทธถือว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ก็จะไปทำบุญตักบาตรกัน หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญตักบาตรก็จะหาเรื่องเล่นสนุกสนานมาละเล่นกัน เช่น การเล่นเรือเพลงและพายเรือแข่งกัน แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีการแข่งจริงจังกำหนดกฎกติกา และมอบรางวัลเหมือนในปัจจุบันที่มีผู้ร่วมเข้าแข่งขันมากมายมาจากเกือบทั่วประเทศ นับเป็นงานประเพณีที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวชุมพรยิ่งนัก
จากบันทึกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า ในสมัยโบราณ ภายหลังว่างเว้นจากการทำนาหรือกิจกรรมเพาะปลูก ผู้คนในหมู่บ้านทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุมักจะร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งเรือองค์กฐิน เพื่อนำไปทอดกฐินที่วัดตามลุ่มน้ำในบริเวณใกล้เคียง โดยสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มจัดให้มีการแข่งเรือในเดือน 11 ของทุกปี และถือเป็นพระราชพิธีประจำเดือน โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถที่โปรดให้มีการแข่งขันเรือของทหาร เพื่อถือเป็นการฝึกซ้อมความแข็งแรงของฝีพาย ลำใดชนะก็จะพระราชทานรางวัลให้เป็นขวัญและกำลังใจ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้จัดให้มีการแข่งขันเรือยาวขึ้นในปี พ.ศ. 2387 โดยมีกำหนดจัดงานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี จึงถือให้เป็นวันแข่งขันเรือประจำปีตั้งแต่บัดนั้น จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2506 นายถ้วน พรหมโยธา ข้าราชการกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดชุมพร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานโล่รางวัลให้แก่ผู้ชนะในการแข่งขันเรือยาวของอำเภอหลังสวน การแข่งขันเรือยาวชิงโล่พระราชทานจึงเป็นประเพณีที่สืบเนื่องกันนับตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา
ใคร “ชิงธง” ได้ ชนะ!!! จุดตัดสินของการแข่งขัน
ในงานประเพณี ส่วนโขนเรือจะประดับประดาด้วยผ้าแพรสีสันสวยงาม สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขัน พร้อมหน้าร่า หรือผืนผ้าขนาดยาว ที่ห้อยลงมาจากโขนเรือ บนผ้าจะประดับด้วยกระจก เพื่อเวลากระจกกระทบกับผิวน้ำ จะเกิดแสงแวววาวที่สวยงาม และบายศรี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเป็นผู้บรมคาถาติดไว้ตรงโขนเรือ เพื่อช่วยป้องกันการเสียดสีผิวหนังบริเวณหน้าท้องของนายหัวเรือเวลาขึ้นโหนเพื่อชิงธง เพราะนายหัวเรือเมื่อขึ้นโขนสุดตัวจะเจ็บหน้าท้อง
ธงที่ชิงจะมีรูปแบบเฉพาะตัว ทำจากผ้าสีแดงผูกติดกับปลายหวายทั้งสองด้าน โดยหวายต้องเป็นหวายเล็ก หรือที่เรียกกันว่าหวายชุมพร จะถูกสอดไว้ในกระบอกไม้ไผ่ โผล่ปลายธงออกมาทั้งสองด้าน ติดตั้งไว้บนแพผู้ตัดสิน หากนายหัวเรือฝ่ายใดชิงธงได้ก่อน ผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะ
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และ คือการแข่งขันของที่นี่จะไม่ถือเอาเส้นชัยเป็นเกณฑ์การตัดสิน แต่จะตัดสินจากธง โดยนายหัวเรือลำใดสามารถคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ จึงมีชื่อเรียกว่า ประเพณีการแห่พระแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง การแข่งเรือยาวของที่นี่เกิดขึ้นเป็นเวลานับร้อยปีเศษ เมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสเมืองชุมพร พระยาจรูญราชโภคากร เจ้าเมืองหลังสวนขณะนั้น ได้จัดขบวนเรือรับเสด็จจากปากอ่าวไทยหนึ่งในขบวนเรือรับเสด็จคือ เรือมะเขือยำ สังกัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นเรือยาวที่แข่งขันและครองความเป็นเลิศมาโดยตลอด ปัจจุบันเรือแข่งลำนี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จะใช้เป็นเรือเกียรติยศ นำขบวนเรือในการเปิดสนามแข่งขันทุกปี ที่แม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร